บทความบริการวิชาการ “ตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัย” ตลาดสีเขียวตามแนวทาง BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยความยั่งยืน

“ตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัย”

ตลาดสีเขียวตามแนวทาง BCG เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยความยั่งยืน

ปัจจุบันกระแสการบริโภคสินค้ารักษ์โลกมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามกระแสสังคม โดยจะเห็นได้ว่ามักจะมีข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือการรณรงค์เรื่องโลกร้อนเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ทำให้หลายคนตระหนักถึงปัญหาที่ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์การบริโภคสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

หากลองสังเกตราคาสินค้าตามท้องตลาด สินค้ารักษ์โลกมักมีราคาที่สูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ในทางกลับกันผู้บริโภคต่างเต็มใจที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากงานวิจัย CGS ของสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้บริโภคในต่างประเทศมากกว่า 47% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 25% ของราคาสินค้าเดิมเพื่อซื้อสินค้าที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในประเทศไทยเองก็ได้มีการสำรวจพบว่าชาวไทยกว่า 37% เต็มใจจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การบริโภคและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป และนี่ถือเป็นโอกาสในการตีตลาดสำหรับสินค้ารักษ์โลก หรือตลาดสีเขียว (Green Market)

ตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัยเป็นตลาดสีเขียวที่มีความยั่งยืน

“Green Market” หรือ ตลาดสีเขียว คือตลาดที่ดำเนินงาน หรือจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเภทหรือรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย คุณภาพ กระบวนการผลิต หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์หีบห่อที่ต้องรักษ์โลกและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัย” ถือเป็นตลาดสีเขียวที่มีการดำเนินงาน ภายใต้โครงการ BCG Economic Model ปีที่ 2 เป็นตลาดเล็ก ๆ ที่ตั้งภายในพื้นที่ไร่แม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงต่ำสลับกันไป บรรยากาศยามเช้าเย็นสบาย มองเห็นวิววัดพระธาตุดอยคำอยู่ไม่ไกล ตรงข้ามตลาดเป็นแปลงสาธิตการผลิตพืชปลอดภัยของศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มช.

เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยตรวจสอบได้

การเป็น “ตลาดสีเขียว” เริ่มจากพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าภายในตลาดเป็นเกษตรกรในเครือข่ายที่ปลูกพืช ผักแบบปลอดภัยมีการตรวจสอบย้อนกลับ โดยมีการดูแลและตรวจสอบสารพิษตกค้างโดย หน่วยตรวจสอบย้อนกลับ คณะเกษตรศาสตร์ มช. หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “AgTrace” ผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นำมาจำหน่ายเกษตรกรจะนำมาจำหน่ายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยกระบวนการปลูกและการผลิตพืชปลอดภัยได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้จากคณะเกษตรศาสตร์ มช. 

เกษตรกรใช้วัสดุปลูกและบรรจุภัณฑ์ที่รักษ์โลก

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตวัสดุปลูก มาจากการหมักตะกอนที่ได้จากการผลิตแก๊สของศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร สังกัดสถาบันวิจัยพลังงานนครพงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ ERDI และนำมาปรับปรุงให้มีธาตุอาหารครบตามความต้องการของพืชโดยศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. 

บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ภายในตลาดถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ อาทิ เลือกใช้สายคาดผัก หรือบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายเองได้ อาทิ กระดาษ ใบตอง และยังมีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในพื้นที่ตลาด อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ไม่ได้พบถุงผ้ามาด้วย ทางตลาดมีตะกร้าไว้ให้บริการในพื้นที่ด้วย

ตลาดมีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ตลาดมีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากมีการให้บริการจุดทิ้งขยะด้วยถังขยะ 3 สีที่มีการสำรวจเเล้วว่ามีขยะประเภทดังกล่าวเกิดในตลาดมากที่สุด ได้แก่ สีเหลือง ขยะรีไซเคิล สีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ขยะทั่วไป และสีเขียว ขยะเปียก โดยมีการให้ความรู้และแนะนำลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ โดยพ่อค้าแม่ค้าที่ถือว่าเป็นผู้ให้บริการจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการคัดแยกขยะให้กับลูกค้า โดยโครงการ BCG ปีที่ 2 ได้ให้การสนับสนุนกระบวนการคิดและส่งเสริมให้พ่อค้าแม่ค้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตลาดด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ขยะที่เกิดขึ้นในตลาดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลาด ได้แก่ ขยะเปียก/ขยะอินทรีย์ จำพวกเศษอาหาร ใบไม้ ใบตอง ขยะรีไซเคิล เช่น แก้วพลาสติก ขวด กระดาษ และขยะทั่วไป เช่น ถุงร้อนสำหรับใส่อาหาร  โดยขยะทั้งหมดที่เกริ่นมาข้างต้นนี้ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร มช. จะมารับและนำไปจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และนำผลิตผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์ คือ “ตะกอนการหมักแก๊สชีวภาพ” วนกลับมาใช้ในระบบการผลิตพืชปลอดภัยต่อไป

โครงการ BCG ปีที่ 2 เป็นหนึ่งโครงการที่เข้ามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และมาช่วยบริหารจัดการตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัย โดยมุ่งเน้นผลักดันให้เป็น “ตลาดสีเขียว” เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าทางความคิด เพิ่มความตระหนักรู้และตื่นตัวเรื่องการรักษ์โลก และเน้นส่งเสริมให้พ่อค้าแม่ค้าที่เปรียบเสมือนเจ้าของตลาด ให้สามารถคิด วางแผน บริหารจัดการตลาดได้ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นตลาดสีเขียวแล้ว ยังเน้นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค้า ลดของเสีย และสร้างระบบหมุนเวียนที่ครบวงจรตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสามารถเดินไปด้วยกันอย่างยั่งยืนต่อไป  




เอกสารประกอบ :

: 497 ครั้ง
วันที่เผยแพร่ : 2024-12-26 10:45:07
เผยแพร่โดย : ปนัดดา ไชยศักดิ์ | หน่วยงาน : ศูนย์บริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร